จำปาป่า ๒

Magnolia elegans (Blume) H. Keng

ชื่ออื่น ๆ
ทังเก (ใต้)
ไม้ต้น เปลือกหนา แตกเป็นสะเก็ด มีกลิ่นฉุน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี หูใบหุ้มยอดอ่อนแต่ไม่เชื่อมติดกับก้านใบ มีขน ร่วงง่าย ไม่มีรอยแผลของหูใบบนก้านใบ ดอกเดี่ยว ออกที่ยอด กลิ่นหอมแรงกลีบรวมสีขาว ผลแบบผลกลุ่ม เปลือกเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปทรงกระบอก ผลย่อยแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มีช่องอากาศเป็นจุดประสีขาวผลแก่เปลือกจะหลุดออกจากกัน เมล็ดติดอยู่กับแกนกลางผลช่องละ ๑ เมล็ด รูปทรงกลมรี สีแดงเข้ม

จำปาป่าชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๓๕-๕๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ม. เปลือกหนา สีน้ำตาลปนเทาแตกเป็นสะเก็ด มีช่องอากาศเป็นปุ่มนูน มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว แตกกิ่งขนาดเล็กจำนวนมากในระดับสูง ทรงพุ่มกลม โปร่ง กิ่งอ่อนเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๗.๕-๑๒ ซม. ปลายมนและมีติ่งแหลมสั้น โคนมนหรือรูปลิ่ม ขอบเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว สีเขียวเข้มเป็นมันทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๑-๑๖ เส้น เห็นไม่ชัด ปลายเส้นเชื่อมกันชิดขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่างในใบแห้ง ก้านใบยาว ๐.๘-๒ ซม. เกลี้ยง หูใบหุ้มยอดอ่อนแต่ไม่เชื่อมติดกับก้านใบ มีขน ร่วงง่าย ไม่มีรอยแผลของหูใบบนก้านใบ

 ดอกเดี่ยว ออกที่ยอด กลิ่นหอมแรง มีกาบหุ้มดอก ๑-๒ กาบ เกลี้ยง ก้านดอกเรียว ยาว ๒-๓ ซม. มี ๑-๒ ข้อ เกลี้ยง กลีบรวม ๑๒-๑๘ กลีบ สีขาว ลักษณะคล้ายกัน เรียงเป็น ๔-๖ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ แต่ละกลีบบาง อ่อน กลีบชั้นนอกรูปแถบ กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๔-๗ ซม. กลีบชั้นในเรียวแคบและสั้นกว่าชั้นนอก เกสรเพศผู้ ๖๐-๗๐ เกสร ยาว ๘.๕-๙.๕ มม. ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๒-๑.๕ มม. อับเรณูหันเข้าด้านใน เรียงเป็นวงล้อมรอบโคนแกนฐานดอกรูปทรงกระบอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีจำนวนมาก แยกจากกันเป็นอิสระ เรียงเวียนบนแกนฐานดอกเป็นรูปทรงกระบอก แต่ละรังไข่


มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากยอดเกสรเพศเมียเป็นสันโค้ง

 ผลแบบผลกลุ่ม เปลือกเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปทรงกระบอก กว้าง ๓.๕-๕ ซม. ยาว ๕-๗ ซม. ก้านช่อผลเรียว ยาว ๒-๓ ซม. มีรอยแผลของกลีบรวมและเกสรเพศผู้ยาว ๐.๕-๑ ซม. ผลย่อยแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มี ๓๐-๕๐ ผล ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีช่องอากาศเป็นจุดประสีขาว ผลแก่เปลือกจะหลุดออกจากกัน เมล็ดติดอยู่กับแกนกลางผลช่องละ ๑ เมล็ด รูปทรงกลมรี ยาว ๑-๑.๒ ซม. สีแดงเข้ม

 จำปาป่าชนิดนี้เป็นพรรณไม้หายากและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๕๕๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จำปาป่า ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Magnolia elegans (Blume) H. Keng
ชื่อสกุล
Magnolia
คำระบุชนิด
elegans
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
- Keng, Hsüan
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Keng, Hsüan (1923-2009)
ชื่ออื่น ๆ
ทังเก (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น